Mitterrand, François Maurice-Marie (1916-1996)

นายฟรองซัว โมรีซ-มารี มิตแตร์รอง (๒๔๕๙-๒๕๓๙)

​​​​​​

     ฟรองซัว โมรีซ-มารี มิตแตร์รองเป็นรัฐบุรุษและผู้นำทางการเมืองคนสำคัญที่มีชื่อเสียงของฝรั่งเศสในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* เขาเป็นนักการเมืองสังคมนิยมคนแรกในสมัยสาธารณ รัฐฝรั่งเศสที่ ๕ (Fifth French Republic ค.ศ. ๑๙๕๘- ) ที่ได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีติดต่อกัน ๒ สมัยเป็นเวลานานถึง ๑๔ ปี ( ค.ศ. ๑๙๘๑-๑๙๙๕) และในสมัยสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๕ (Fifth French Republic ค.ศ. ๑๙๕๘- ) เขาได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลผสมชุดต่าง ๆ ๑๑ ครั้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตลอดสมัยสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๔ ต่อมาเป็นวุฒิสมาชิกอีก ๓ ปี ( ค.ศ. ๑๙๕๙-๑๙๖๒) ใน ค.ศ. ๑๙๗๑ มิตแตร์รองได้เป็นหัวหน้าพรรคสังคมนิยม (Socialist Party) ที่จัดตั้งขึ้นใหม่และมีบทบาทสำคัญในการสร้างแนวร่วมระหว่างพรรคสังคมนิยมกับพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส (French Communist Party) ได้สำเร็จเป็นครั้งแรก ซึ่งส่งผลให้พรรคสังคมนิยมได้ครองอำนาจในรัฐสภาติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี งานสำคัญขณะที่เป็นประธานาธิบดีคือการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้สอดคล้องกับอุดมการณ์สังคมนิยมมากขึ้นและการให้ความร่วมมือกับชาติสมาชิกอื่น ๆ ของประชาคมยุโรปหรืออีซี (European Community - EC)* ในกระบวนการบูรณาการยุโรปครั้งต่าง ๆ ในช่วงปลายทศวรรษ ๑๙๘๐ มิตแตร์รองเป็นแกนนำสำคัญร่วมกับนายกรัฐมนตรี เฮลมุท โคล (Helmut Kohl)* แห่งเยอรมนีตะวันตกในการประชุมระหว่างรัฐบาลชาติสมาชิกเพื่อจัดตั้งสหภาพยุโรปหรืออียู (European Union - EU)* จนทำให้สนธิสัญญามาสตริกต์ (Treaty of Maastricht)* ได้รับการลงนามในวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๙๒
     มิตแตร์รองเกิดเมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๖ ที่เมืองชาร์นัก (Jarnac) ในมณฑลชารองต์ (Charente) ในครอบครัวชนชั้นกลางคาทอลิกที่เคร่งครัด เป็นบุตรคนที่ ๕ ในจำนวน ๘ คนของโชแซฟ มิตแตร์รอง (Joseph Mitterrand) นายสถานีรถไฟสายปารีส-ออร์เลออง (Orléans) และอีวอน ลอร์แรง (Yvonne Lorrain) ซึ่งเป็นคนเจ้าระเบียบและเคร่งศาสนามาก ในวัยเด็กมิตแตร์รองเป็นคนเรียนเก่ง สุภาพ และมีนิสัยชอบเป็นผู้นำ เขาเคร่งศาสนาเช่นเดียวกับมารดา มองโลกในแง่ดีและรักเสรีภาพ เขาเริ่มสนใจการเมืองในแนวอนุรักษนิยมคาทอลิกมาตั้งแต่รุ่นหนุ่ม โดยได้เข้าเป็นสมาชิกของพรรคกางเขนไฟ (Croix de Feu) ซึ่งเป็นพรรคชาตินิยมคาทอลิกสาขาเล็ก ๆ ในแถบบ้านเกิด อย่างไรก็ดีหลังจบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาจากวิทยาลัยแซงปอลดองกูแลม (Saint Paul d’ Angoulême) ในมณฑลชารองต์แล้ว ใน ค.ศ. ๑๙๓๔ เขาเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยปารีสและได้รับปริญญาในสาขานิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ใน ค.ศ. ๑๙๓๙ แต่ยังไม่ทันได้ประกอบอาชีพก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ขึ้นในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ มิตแตร์รองจึงถูกเกณฑ์เป็นทหารในกองทัพบกและถูกส่งไปรบในสมรภูมิ ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๐ เขาได้รับบาดเจ็บจากการโจมตีแนวรบด้านตะวันตกของกองทัพเยอรมันใกล้เมืองแวร์เดิง (Verdun) ทั้งยังถูกจับเป็นเชลยและถูกส่งตัวไปกักขังในค่ายกักกันเชลยศึกในเยอรมนีด้วย อย่างไรก็ดี ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ มิตแตร์รองก็สามารถหลบหนีออกมาได้ หลังจากประสบความล้มเหลวมาแล้วถึง ๒ ครั้ง และต้องเดินเท้ากลับถึงฝรั่งเศสในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๔๒ หลังจากนั้นก็ร่วมทำงานในรัฐบาลวีชี (Vichy Government)* ที่มีจอมพล อองรี-ฟิลิป เปแตง (Henri- Philippe Petain)* เป็นหัวหน้า เขาได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ดูแลด้านเอกสารของหน่วยปฏิบัติการรบของกองทัพฝรั่งเศสซึ่งให้การสนับสนุนฝ่ายนาซี มิตแตร์รองทำงานในหน้าที่นี้อยู่จนถึง ค.ศ. ๑๙๔๓ ก็ลาออกจากรัฐบาลวิชีเพราะเกิดความขัดแย้งกับปีแยร์ ลาวาล (Pierre Laval)* ซึ่งขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทนที่เปแตงด้านนโยบายเกี่ยวกับการส่งแรงงานชาวฝรั่งเศสไปทำงานในเยอรมนีเพื่อสนับสนุนการรบของกองทัพนาซี
     ต่อมามิตแตร์รองหันไปทำงานใต้ดินให้กับกลุ่มต่อต้านนาซีของฝรั่งเศส (French Resistance Movement) โดยระยะแรกได้เข้าทำงานในหน่วยต่อต้านติดอาวุธหรือโอเออาร์ (Organization of Armed Resistance - OAR) แต่หลังจากที่เขาได้พบนายพลชาร์ล เดอ โกล (Charles de Gaulle)* หัวหน้ารัฐบาลพลัดถิ่นฝรั่งเศสที่กรุงลอนดอนเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๓ แล้ว เขาก็ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รวบรวมทหารนอกประจำการและอดีตเชลยศึกชาวฝรั่งเศสที่อยู่กระจัดกระจายตามที่ต่าง ๆ เข้ามาร่วมงานกับกลุ่มต่อต้านนาซี อย่างเป็นปึกแผ่นและมีประสิทธิภาพ มิตแตร์รองจึงได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าขบวนการเชลยศึกแห่งชาติตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๔ จนสงครามสิ้นสุดลงเขาทำงานส่วนใหญ่อยู่นอกประเทศ การทำงานในกลุ่มต่อต้านนาซีดังกล่าวทำให้มิตแตร์รองได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนความคิดกับนักการเมืองและผู้ร่วมงานในสาขาอาชีพต่าง ๆ ซึ่งทำให้เขามีวิสัยทัศน์ทางการเมืองกว้างไกลขึ้นและเปลี่ยนไปจากเดิมเป็นอย่างมาก และยังทำให้ชื่อเสียงด้านลบของเขาที่เกิดจากการทำงานให้กับรัฐบาลวิชีลดน้อยลงไปด้วย มิตแตร์รองเองมักกล่าวอ้างเสมอว่าเขาได้เรียนรู้เรื่องการเมืองอย่างมากจากการทำงานให้กับกลุ่มต่อต้านนาซี อย่างไรก็ดี เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในยุโรปยุติลงในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ มิตแตร์รองก็ยังคงทำงานอยู่ในเยอรมนีให้กับรัฐบาลของนายพลเดอ โกลต่อไป โดยทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลการส่งเชลยศึกและชาวฝรั่งเศสที่ถูกเนรเทศออกไปคุมขังอยู่ในเยอรมนีจำนวนหลายพันคนกลับคืนสู่มาตุภูมิ
     เมื่อเดินทางกลับมาฝรั่งเศส มิตแตร์รองก็หันเข้าสู่ชีวิตทางการเมืองทันที โดยเข้าเป็นสมาชิกของพรรคสหภาพสังคมนิยมประชาธิปไตยของกลุ่มต่อต้าน (Democratic and Socialist Resistance Union) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองสายกลางเอียงซ้ายขนาดเล็กของอดีตกลุ่มผู้นำขบวนการต่อต้านนาซี ใน ค.ศ. ๑๙๔๖ เขาก็ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากเขต นีแยฟวร์ (Nièvre) เป็นครั้งแรก และได้รับเลือกตั้งสืบต่อมาอีกหลายสมัยจนถึง ค.ศ. ๑๙๕๘ ใน ค.ศ. ๑๙๔๗ มิตแตร์รองได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทหารผ่านศึกในรัฐบาลปอล รามาดีเย (Paul Ramadier) เป็นครั้งแรกด้วย และนับจากนั้นมาเขาก็ได้เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลผสมชุดต่าง ๆ ของสาธารณรัฐที่ ๔ อีก ๑๐ ครั้งใน ค.ศ. ๑๙๕๓ มิตแตร์รองก็ได้เป็นหัวหน้าพรรคพรรคสหภาพสังคมนิยมประชาธิปไตยของกลุ่มต่อต้านแทนที่เรอเน เปลอวอง (René Pleven) เขาลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลของโมรีซบูร์แชส-โมนูรี (Maurice Bourgès-Maunoury) ใน ค.ศ. ๑๙๕๗ เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับนโยบายแอลจีเรียของรัฐบาล
     หลังจากประธานาธิบดีชาร์ล เดอ โกลกลับคืนสู่อำนาจทางการเมืองในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๕๘ แล้ว มิตแตร์รองซึ่งอยู่ในกลุ่มนักการเมืองฝ่ายซ้ายที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์จำนวนน้อยเป็นแกนนำต่อต้านระบอบ เดอ โกลอย่างแข็งขัน เขาไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๕ รวมทั้งการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของเดอ โกล เพื่อเพิ่มอำนาจให้ประธานาธิบดีอยู่เหนือรัฐสภา โดยให้ประธานาธิบดีมีวาระการดำรงตำแหน่งยาวนานถึง ๗ ปี และมีอำนาจค่อนข้างเด็ดขาดในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ มิตแตร์รองโจมตีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าเป็นเสมือน "การทำรัฐประหารแบบถาวร" แต่การต่อต้านและโจมตีของเขากลับเป็นการสวนกระแสความนิยมของชาวฝรั่งเศสส่วนใหญ่ที่นิยมชมชื่นเดอ โกลว่าเป็นวีรบุรุษของชาติที่ได้กอบกู้ประเทศไว้จากสถานการณ์ในแอลจีเรีย จึงทำให้มิตแตร์รองเสียคะแนนนิยมและพ่ายแพ้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปลาย ค.ศ. ๑๙๕๘
     อย่างไรก็ดี ใน ค.ศ. ๑๙๕๙ มิตแตร์รองยังได้รับเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิกอีก ๓ ปี แต่เขาก็ยังไม่ยุติการต่อต้านรัฐบาลเดอ โกล ในช่วงต้นทศวรรษ ๑๙๖๐ มิตแตร์รองได้ร่วมมือกับปีแยร์ มองแดส-ฟรองซ์ (Pierre Mendès-France)* จัดตั้งสหพันธ์สังคมนิยมประชาธิปไตยฝ่ายซ้าย (Federation of the Democratic and Socialist Left - FGDS) ขึ้น โดยรวมกลุ่มพรรคสังคมนิยมและพรรคกลางซ้ายต่าง ๆ เข้าด้วยกันในระบบพันธมิตรเพื่อขยายฐานเสียงของพรรคฝ่ายซ้ายและดำเนินการต่อต้านเดอ โกลให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นความสามารถในการเจรจาต่อรองระหว่างพรรคและการสร้างแกนนำต่อต้านเดอ โกลทำให้มิตแตร์รองได้รับการยอมรับในฐานะผู้นำของพรรคฝ่ายซ้ายมากขึ้นตามลำดับ
     ใน ค.ศ. ๑๙๖๕ มิตแตร์รองลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในนามสหพันธ์สังคมนิยมประชาธิปไตยฝ่ายซ้ายโดยแข่งขันกับเดอ โกล แม้ว่าในการเลือกตั้งรอบแรกเขาได้รับคะแนนเสียงสูงถึงร้อยละ ๔๔.๘ ของผู้มาออกเสียงเลือกตั้งแต่เขาก็พ่ายแพ้เดอ โกลอย่างเฉียดฉิวในการเลือกตั้งรอบสอง ความพ่ายแพ้ในครั้งนี้ทำให้มิตแตร์รองหันมามุ่งมั่นสร้างความแข็งแกร่งให้กับพรรคฝ่ายค้านต่อไป โดยการจัดตั้งรัฐบาลเงาซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคสังคมนิยมแห่งฝรั่งเศส (French SocialistParty - SFIO) พรรคสังคมนิยมหัวรุนแรงและพรรคคอมมิวนิสต์ พร้อมทั้งให้คำมั่นสัญญากับพรรคคอมมิวนิสต์ว่าจะให้ตำแหน่งรัฐมนตรีจำนวนหนึ่งในกรณีที่เขาจัดตั้งรัฐบาลขึ้นได้สำเร็จ ในเรื่องความร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์นี้ มิตแตร์รองมีความเห็นมาแต่ต้นว่าหากจะสร้างแนวร่วมฝ่ายค้านให้แข็งแกร่งพอที่จะถ่วงดุลอำนาจกับรัฐบาลพรรคฝ่ายขวาของเดอ โกลแล้วพรรคฝ่ายซ้ายโดยเฉพาะพรรคสังคมนิยมแห่งฝรั่งเศส กับพรรคคอมมิวนิสต์จำเป็นต้องประสานความร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งเพราะ นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลงพรรคทั้งสองซึ่งเป็นพรรคฝ่ายซ้ายที่สำคัญและมีขนาดใหญ่ยังไม่สามารถร่วมมือกันได้ เนื่องจากพรรคสังคมนิยมมักหันไปร่วมมือกับพรรคการเมืองสายกลางเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์ก็มักถูกโดดเดี่ยวและดำเนินงานไปตามแนวทางของตนโดยลำพัง ทำให้ฝ่ายซ้ายไม่มีแนวร่วมที่เข้มแข็งพอที่จะท้าทายพรรคการเมืองฝ่ายขวาได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และความร่วมมือระหว่างสหพันธ์สังคมนิยมประชาธิปไตยฝ่ายซ้ายกับพรรคคอมมิวนิสต์ดังกล่าวก็ส่งผลให้พรรคฝ่ายซ้ายได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใน ค.ศ. ๑๙๖๗ จนมีจำนวนสมาชิกในสภารวมกันน้อยกว่าสมาชิกจากกลุ่มโกลลิสต์ (Gaullist) ซึ่งเป็นเสียงข้างมากในสภามาโดยตลอด เพียง ๑ ที่นั่งเท่านั้น อย่างไรก็ดี การจลาจลของนักศึกษาและผู้ใช้แรงงานในกรุงปารีสในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๖๘ ก็ได้ทำให้ชาวฝรั่งเศสเกิดความหวาดระแวงว่าจะเกิดการปฏิวัติของพวกคอมมิวนิสต์ขึ้น พรรคแนวร่วมฝ่ายซ้ายของมิตแตร์รองจึงประสบความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ในการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน เหตุการณ์พลิกผันดังกล่าวทำให้มิตแตร์รองต้องลาออกจากตำแหน่งประธานสหพันธ์ฝ่ายซ้ายใน ค.ศ. ๑๙๖๘ เพื่อแสดงความรับผิดชอบ ในขณะที่พรรคสังคมนิยมแห่งฝรั่งเศสก็ต้องสลายตัวลงหลังจากนั้นไม่นาน
     อย่างไรก็ดี ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๖๙ พรรคสังคมนิยมแห่งฝรั่งเศสก็ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาใหม่ในชื่อพรรคสังคมนิยม โดยที่มิตแตร์รองได้เข้าเป็นสมาชิกในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๗๑ ก่อนการประชุมใหญ่ที่เมืองเอปีเน (Congress of Epinay) เพียง ๒ วันในการประชุมครั้งนั้นมิตแตร์รองได้รับเลือกตั้งเป็นเลขาธิการพรรคซึ่งทำให้เขาได้เป็นผู้นำการปฏิรูปพรรคสังคมนิยมอย่างรอบด้าน ทั้งในเรื่องการจัดทำโครงสร้างใหม่ การปรับปรุงระเบียบกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ตลอดจนการนำกลยุทธ์ใหม่ ๆ มาใช้ เพื่อให้พรรคทันสมัยและสามารถแข่งขันกับพรรครัฐบาลของชอร์ช ปงปีดู (Georges Pompidou)* ได้ นอกจากนี้ใน ค.ศ. ๑๙๗๒ พรรคสังคมนิยมยังได้ลงนามเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการกับพรรคคอมมิวนิสต์ด้วย ทำให้พรรคฝ่ายค้านมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น พรรคสังคมนิยมจึงได้รับชัยชนะครั้งสำคัญในการเลือกตั้งทั่วไปใน ค.ศ. ๑๙๗๓ และใน ค.ศ. ๑๙๗๔ มิตแตร์รองก็ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งโดยแข่งขันกับวาเลรี ชีสการ์ เดสแตง (Valéry Giscard d’ Estaing) จากพรรคอนุรักษนิยม แต่ก็พ่ายแพ้ด้วยคะแนนเสียงที่ใกล้เคียงกันมาก ทำให้เขาเกิดความมั่นใจและหันมาดำเนินการวางแผนเพื่อรณรงค์หาเสียงในการเลือกตั้งครั้งต่อไปอย่างแข็งขัน
     ใน ค.ศ. ๑๙๘๑ มิตแตร์รองลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นครั้งที่ ๓ และในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม เขาก็ได้รับชัยชนะเหนือชีสการ์ เดสแตง และได้เป็นประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๕ ที่มาจากพรรคสังคมนิยมหลังจากที่เป็นฝ่ายค้านมาเป็นเวลาถึง ๒๓ ปี ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๘๑ พรรคสังคมนิยมยังได้รับชัยชนะเหนือพรรคอื่นในการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งมีผลให้ได้ครองเสียงข้างมากในรัฐสภาประธานาธิบดีมิตแตร์รองจึงสามารถผลักดันนโยบายต่าง ๆ ได้โดยสะดวก และใน ค.ศ. ๑๙๘๘ ก็ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ ๒ โดยได้รับชัยชนะเหนือชาก ชีรัก (Jacques Chirac)* คู่แข่งจากพรรคอนุรักษนิยมด้วยคะแนนเสียงค่อนข้างมาก มิตแตร์รองจึงได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อมาจนถึง ค.ศ. ๑๙๙๕
     เมื่อเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรกมิตแตร์รองเริ่มปฏิรูปประเทศให้เป็นไปตามแนวทางสังคมนิยมหลายประการ เช่น ในด้านเศรษฐกิจ มีการโอนกิจการธนาคาร สถาบันการเงิน และอุตสาหกรรมที่สำคัญมาเป็นของรัฐ รวมทั้งอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการป้องกันประเทศด้วย ทางด้านสังคมมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้แก่คนงานในโรงงานอุตสาหกรรมและการเกษตรในขณะที่ลดชั่วโมงการทำงานลง และเพิ่มโครงการประกันสังคมในด้านต่าง ๆ รวมทั้งออกกฎหมายแรงงานหลายฉบับ ตลอดจนออกกฎหมายยกเลิกการลงโทษประหารชีวิต เป็นต้น ส่วนทางด้านการเมืองมีการกระจายอำนาจจากรัฐบาลกลางไปยังส่วนท้องถิ่นมากขึ้น โดยยกเลิกระบบพรีเฟ็ก (prefectoral system) ซึ่งเป็นระบบที่ใช้กันมาเป็นเวลานานโดยรัฐบาลกลางที่ กรุงปารีสสามารถเข้าไปควบคุมรัฐบาลส่วนท้องถิ่นได้อย่างเข้มงวด การปฏิรูปของมิตแตร์รองจึงนับเป็นความสำเร็จที่สำคัญของรัฐบาลสังคมนิยมในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ แต่โครงการปฏิรูปเศรษฐกิจของเขากลับไม่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่สามารถแก้ไขปัญหาการว่างงานได้ ทั้งยังทำให้รัฐต้องใช้จ่ายเงินเป็นจำนวนมาก ในขณะที่การลงทุนในประเทศก็ลดน้อยลงเพราะบรรดานักลงทุนเกรงว่าจะต้องตกอยู่ภายใต้กฎระเบียบอันเข้มงวดของรัฐบาลสังคมนิยม นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อจนถึงกับต้องลดค่าเงินฟรังก์ในต้นทศวรรษ ๑๙๘๐ ขณะเดียวกันมิตแตร์รองก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากพรรคฝ่ายค้านอย่างกว้างขวาง การปฏิรูปเศรษฐกิจของเขาจึงกลายเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พรรคสังคมนิยมเริ่มเสียคะแนนนิยม ใน ค.ศ. ๑๙๘๓ มิตแตร์รองจึงเริ่มเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจเป็นระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีตามแนวทางของประชาคมยุโรปแทนซึ่งเขาเรียกว่า "สัจจนิยมทางเศรษฐกิจ" (economic realism) ทั้งยังได้เปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีจากปีแยร์ โมรัว (PierreMauroy) ซึ่งเป็นนักสังคมนิยมที่เหนียวแน่นมาเป็นโลรอง ฟาบีอูส (Laurent Fabius) นักเศรษฐศาสตร์ในแนวปฏิบัตินิยม การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้มิตแตร์รองถูกโจมตีอย่างรุนแรงจากสมาชิกพรรคสังคมนิยมด้วยกัน และถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเขาไม่ได้เป็นนักลัทธิมากซ์ที่แท้จริงทั้งยังทำให้พรรคเกือบแตกแยก มิตแตร์รองได้พยายามอธิบายให้ฝ่ายต่อต้านเขาเห็นว่าอำนาจสามารถถูกถ่ายโอนอย่างรับผิดชอบจากซ้ายไปขวาได้และประธานาธิบดีสังคมนิยมควรถามความต้องการของคนงานและสหภาพต่าง ๆ และควรอุทิศตนเพื่อต่อสู้กับสภาวะเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี ก่อนหมดวาระการเป็นประธานาธิบดีสมัยแรก ฝรั่งเศสก็ได้ละทิ้งนโยบายสังคมนิยมทางเศรษฐกิจอย่างสิ้นเชิง และหันมาใช้นโยบายเสรีนิยมทางการตลาดอย่างเต็มที่ ซึ่งทำให้มิตแตร์รองถูกวิจารณ์ว่าเขาเป็นเพียงนักปฏิรูปแนวสังคมนิยมเท่านั้น
     แม้ว่ามิตแตร์รองจะสามารถรักษาเอกภาพของพรรคสังคมนิยมไว้ได้ แต่เขาก็ไม่สามารถรักษาคะแนนเสียงของพรรคในรัฐสภาได้ เพราะในการเลือกตั้งทั่วไป ใน ค.ศ. ๑๙๘๖ พรรคได้สูญเสียเสียงข้างมากไปจนทำให้มิตแตร์รองต้องนำระบบการบริหารร่วมกัน (cohabitation) มาใช้เป็นครั้งแรกในช่วง ค.ศ. ๑๙๘๖-๑๙๘๘ โดยยอมทำงานร่วมกับรัฐบาลผสมของพรรคการเมืองปีกขวาที่มีนายชีรักเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เขาก็ได้พยายามรักษาอำนาจไว้อย่างเต็มที่จนสามารถได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามาเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ ๒ พร้อม ๆ กับที่พรรคสังคมนิยมกลับมาครองเสียงข้างมากในรัฐสภาได้ระบบการบริหารงานร่วมครั้งแรกจึงยุติลง
     เมื่อเริ่มสมัยที่ ๒ มิตแตร์รองได้แต่งตั้งมีแชล โรการ์ (Michel Rocard) ซึ่งมีนโยบายสังคมนิยมแบบสายกลางเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ใน ค.ศ. ๑๙๙๑ เขากลับแต่งตั้งเอดีต เกรสซง (Edith Gresson) เป็นนายกรัฐมนตรีแทนโรการ์ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของฝรั่งเศส เขาหวังว่าเกรสซงจะช่วยกอบกู้ฐานะและความนิยมของพรรคสังคมนิยมไว้ได้ แต่กลายเป็นความผิดพลาดอย่างมหันต์เพราะเธอขาดความสามารถดังที่เขาคาดหวัง ทั้งยังทำให้คะแนนนิยมของพรรคตกลงไปอีกจนเกรสซงต้องลาออกใน ค.ศ. ๑๙๙๒ มิตแตร์รองจึงแต่งตั้งปีแยร์ เบเรโกวัว (Pierre Bérégovoy) เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจดีขึ้น ในที่สุดในการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติใน ค.ศ. ๑๙๙๓ พรรคสังคมนิยมประสบความพ่ายแพ้อีกครั้งหนึ่งมิตแตร์รองจึงต้องแต่งตั้งเอดูอาร์ บาลลาดูร์ (Edouard Balladur) หัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมในสายโกลลิสต์ซึ่งได้เสียงข้างมากในสภาเป็นนายกรัฐมนตรีในระบบการบริหารร่วมกันเป็นครั้งที่ ๒ อย่างไรก็ดี แม้ว่ามิตแตร์รองจะประสบปัญหายุ่งยากทางการเมืองภายในหลายประการ แต่เขาก็สามารถประคับประคองการบริหารประเทศมาได้เป็นอย่างดีจนสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งใน ค.ศ. ๑๙๙๕
     ในด้านการต่างประเทศนั้น มิตแตร์รองประสบความสำเร็จมากกว่าการดำเนินนโยบายภายในประเทศเขาได้ชื่อว่าเป็นนักนิยมยุโรป (Europeanist) ที่มีบทบาทโดดเด่นในการสร้างเอกภาพให้แก่ยุโรปผู้หนึ่งซึ่งมีความเชื่อมั่นว่าความยิ่งใหญ่ของฝรั่งเศสขึ้นอยู่กับการสร้างความมั่นคงแข็งแกร่งให้กับยุโรป ซึ่งจะอำนวยประโยชน์ให้แก่ฝรั่งเศสในระยะยาวทั้งในด้านการเมืองเศรษฐกิจ และสังคม มิตแตร์รองจึงมีส่วนสนับสนุนและผลักดันให้กระบวนการบูรณาการของประชาคมยุโรปดำเนินไปอย่างก้าวหน้าและรวดเร็วในช่วงทศวรรษ ๑๙๘๐ จนกระทั่งสามารถจัดตั้งสหภาพยุโรปได้ในทศวรรษ ๑๙๙๐ งานสำคัญชิ้นแรกที่เขาทำให้กับประชาคมยุโรปเมื่อฝรั่งเศสได้เป็นประธานคณะมนตรีของประชาคม (Presidency of the Council of Ministers) ใน ค.ศ. ๑๙๘๔ คือการแสดงสุนทรพจน์ต่อรัฐสภายุโรป (European Parliament) ในวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ซึ่งเขาได้เสนอเค้าโครงแผนงานที่ท้าทายประชาคมยุโรปต่อบรรดาผู้นำชาติสมาชิกและผู้แทนรัฐสภาโดยเรียกร้องให้มีการปฏิรูปทางสถาบันอย่างเร่งด่วนเพื่อให้ประชาคมสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพพร้อมทั้งขอให้ยุติการใช้การประนีประนอมแห่งลักเซมเบิร์ก (Luxembourg Compromise)* ในกระบวนการตัดสินใจซึ่งใช้มาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๖๖ เพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ที่นั่งว่าง (Empty Chair Crisis) อันเกิดจากการประท้วงของ ประธานาธิบดีเดอ โกลใน ค.ศ. ๑๙๖๕ เพราะเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานของประชาคม ทั้งยังขัดต่อวัตถุประสงค์ของสนธิสัญญาจัดตั้งประชาคมยุโรปด้วยเขายังเรียกร้องให้มีการปรับปรุงนโยบายต่าง ๆ ของประชาคมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและเสนอแนะให้ประชาคมมีนโยบายร่วมในด้านการต่างประเทศและความมั่นคงที่เข้มแข็ง ซึ่งในเรื่องหลังนี้หลายคนเชื่อว่า มิตแตร์รองเสนอขึ้นมาเพื่อตอบโต้ปฏิกริยาอันแข็งกร้าวของสหรัฐอเมริกาที่มีต่อยุโรปในขณะนั้o อย่างไรก็ดี สุนทรพจน์ดังกล่าวของมิตแตร์รองก็ได้รับความสนใจและการสนับสนุนเป็นอย่างมากจากบรรดาผู้นำชาติสมาชิกอื่น เช่น เยอรมนีตะวันตก อิตาลี และกลุ่มเบเนลักซ์ (Benelux)* ซึ่งกำลังต้องการให้มีการปฏิรูปประชาคมอยู่แล้ว และต้องการให้ปลดเปลื้องอิทธิพลของเดอ โกลที่ยังคงเหลืออยู่ในประชาคมมาเป็นเวลานานให้หมดไปด้วย
     ต่อมาในเดือนมิถุนายนมิตแตร์รองยังได้ยื่น "ข้อเสนอมิตแตร์รอง" (Mitterrand Initiative) ต่อที่ประชุมสุดยอดยุโรป (European Council) ที่พระราชวังฟงแตนโบล (Fontainebleau) ในฝรั่งเศส ข้อเสนอนี้ได้กลายเป็นความตกลงฟงแตนโบล (Fontainebleau Agreement) ที่มีความสำคัญมากในเวลาต่อมา เพราะได้กำหนดเงินช่วยงบประมาณประชาคมยุโรปสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายนโยบายร่วมด้านการเกษตร (Common Agricultural Policy) ที่ชาติสมาชิกจะต้องเฉลี่ยกันจ่ายให้แก่ประชาคมในอัตราใหม่ซึ่งเป็นที่ยอมรับได้ของบรรดาชาติสมาชิก ทำให้ปัญหาเงินช่วยงบประมาณของอังกฤษที่ยืดเยื้อและมีผลกระทบต่อเอกภาพของประชาคมยุโรปมาเป็นเวลากว่า ๕ ปียุติลงได้ ทั้งยังทำให้การเจรจาเพื่อรับสเปนและโปรตุเกสเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของประชาคมที่ ชะงักงันอยู่ด้วยปัญหาค่าใช้จ่ายด้านการเกษตรนี้สามารถดำเนินต่อไปได้จนบรรลุผลใน ค.ศ. ๑๙๘๔ ประชาคมยุโรปได้ใช้ความตกลงฟงแตนโบลนี้สืบต่อมาจนเปลี่ยนสถานภาพเป็นสหภาพยุโรป และได้รับการต่ออายุใน ค.ศ. ๑๙๙๙ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีมติให้จัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นคณะหนึ่ง โดยมี เจมส์ ดูจ (James Dooge) วุฒิสมาชิกชาวไอริชเป็นประธานเพื่อทำหน้าที่พิจารณาการปฏิรูปทางสถาบันและการดำเนินงานของประชาคมตามข้อเสนอของมิตแตร์รองต่อรัฐสภายุโรปเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๘๔ ด้วย บทบาทของมิตแตร์รองในเรื่องดังกล่าวนับว่ามีส่วนเป็นอย่างมากต่อการเพิ่มบทบาทของที่ประชุมสุดยอดยุโรปให้กลายเป็นเวทีสำหรับการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและการเมืองของยุโรปในระยะยาว
     ในช่วงกลางทศวรรษ ๑๙๘๐ มิตแตร์รองได้มีส่วนผลักดันให้โครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งตลาดเดียวแห่งยุโรป (Single European Market)* ที่เสนอโดยชาก เดอลอร์ (Jacques Delors) ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) นักการเมืองสังคมนิยมและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังฝรั่งเศสผ่านมติที่ประชุมสุดยอดยุโรปครั้งต่าง ๆ อย่างราบรื่น เนื่องจากเขาเห็นว่าการจัดตั้งตลาดเดียวแห่งยุโรปจะช่วยแก้ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจของฝรั่งเศสที่เรื้อรังมานานได้ ทั้งยังจะช่วยแก้ไขและเพิ่มเติมมิติทางด้านสังคมให้แก่ประชาคมยุโรปเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่พลเมืองของชาติสมาชิกได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น นอก จากนี้ มิตแตร์รองยังมีส่วนผลักดันให้มีการผนวกความร่วมมือทางการเมืองยุโรป (European Political Cooperation) ที่จัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๗๐ เข้าเป็นส่วนหนึ่งในกฎหมายยุโรปตลาดเดียว (Single European Act)* ซึ่งเป็นสนธิสัญญาจัดตั้งตลาดเดียวแห่งยุโรปใน ค.ศ. ๑๙๘๖ ทั้งนี้เพื่อทำให้ประชาคมสามารถมีนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงร่วมกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ความร่วมมือทางการเมืองนี้ในเวลาต่อมาก็ได้กลายเป็นนโยบายร่วมด้านการต่างประเทศและความมั่นคง (Common Foreign and Security Policy - CFSP) ของสหภาพยุโรปซึ่งปรากฏอยู่ในสนธิสัญญามาสตริกต์อนึ่งใน ค.ศ. ๑๙๘๕ มิตแตร์รองยังได้ลงนามในข้อตกลงเชงเงิน (Schengen Accord)* ฉบับแรกร่วมกับผู้นำเยอรมนีตะวันตกและกลุ่มเบเนลักซ์ เพื่อให้พลเมืองของประเทศที่ลงนามในข้อตกลงทั้ง ๕ ประเทศ สามารถเดินทางเข้าออกระหว่างกันได้โดยสะดวก ข้อตกลงดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการทำให้ประชาคมยุโรปเป็นยุโรปที่ไร้พรมแดน ซึ่งได้มีการลงนามเพิ่มเติมในเวลาต่อมาเพื่อขยายจำนวนสมาชิกและเงื่อนไขต่าง ๆ อีก ๒ ครั้งต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๘๙ มิตแตร์รองมีส่วนผลักดันให้ประชาคมยุโรปลงนามกับประเทศในเอเชียแปซิฟิกและแคริบเบียนในอนุสัญญาโลเมฉบับที่ ๔ (Lome Convention IV) เพื่อขยายขอบเขตการค้ากับประเทศเหล่านั้น
     ในช่วง ค.ศ. ๑๙๘๙-๑๙๙๐ มิตแตร์รองได้ร่วมมือกับนายกรัฐมนตรีเฮลมุท โคลแห่งเยอรมนีตะวันตกผลักดันให้เกิดการประชุมระหว่างรัฐบาลของชาติสมาชิกประชาคมยุโรป (Intergovernmental Conference - IGC) ขึ้น ๒ การประชุมควบคู่กันไป การประชุมแรกเป็นการประชุมเพื่อจัดตั้งสหภาพทางเศรษฐกิจและการเงินยุโรปหรืออีเอ็มยู (Economic and Monetary Union - EMU)* ซึ่งมิตแตร์รองเห็นว่านอกจากจะทำให้โครงการจัดตั้งตลาดเดียวเสร็จสมบูรณ์โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การมีเงินสกุลร่วมของยุโรปเพียงสกุลเดียวแล้ว ยังจะช่วยฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจและการเงินของฝรั่งเศสที่ตกต่ำมาอย่างต่อเนื่องให้ดีขึ้นด้วย ในขณะเดียวกันฝรั่งเศสก็จะได้ประโยชน์จากระบบธนาคารกลางยุโรปที่เข้าไปควบคุมระบบเศรษฐกิจการเงินของเยอรมนีที่กำลังเติบโตเหนือกว่าประเทศอื่นในประชาคมยุโรป เขาจึงสนับสนุนการจัดตั้งอีเอ็มยู ส่วนการประชุมที่ ๒ เป็นการประชุมเพื่อจัดตั้งสหภาพการเมืองขึ้นแทนที่ประชาคมยุโรปซึ่งถือเป็นเป้าหมายสำคัญของกระบวนการบูรณาการยุโรปที่ได้เริ่มมาตั้งแต่ทศวรรษ ๑๙๕๐ การจัดตั้งสหภาพดังกล่าวจะช่วยทำให้ยุโรปสามารถดำเนินนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงร่วมกันได้อย่างเป็นเอกภาพ และยังจะช่วยแก้ปัญหาการรวมเยอรมนี (Reunification of Germany) ภายหลังการพังทลายของกำแพงเบอร์ลิน (Berlin Wall)* ในปลาย ค.ศ.๑๙๘๙ ได้ด้วย โดยผูกพันเยอรมนีที่กำลังเข้มแข็งขึ้นกว่าเดิมให้อยู่ภายในกรอบของสหภาพยุโรปที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ อันจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งและความมั่นคงปลอดภัยให้แก่ฝรั่งเศสและยุโรปในส่วนรวมแทนที่จะปล่อยให้เยอรมนีดำเนินการรวมประเทศเองโดย ลำพัง ซึ่งเขาเห็นว่าอาจก่อให้เกิดผลกระทบอันไม่เป็นที่พึงประสงค์ได้ โคลเห็นชอบแนวความคิดดังกล่าวเป็นอย่างมากโดยให้ความมั่นใจต่อบรรดาผู้นำชาติสมาชิกอีซีว่าการรวมเยอรมนีจะเกิดขึ้นโดยสันติและจะไม่เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการบูรณาการยุโรป บุคคลทั้งสองจึงร่วมกันยื่นข้อเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดยุโรปที่กรุงดับลินใน ค.ศ. ๑๙๙๐ ขอให้มีการประชุมเจรจาจัดตั้งสหภาพการเมืองระหว่างชาติสมาชิกควบคู่ไปกับการประชุมเจรจาจัดตั้งสหภาพทางเศรษฐกิจและการเงินซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาอนุมัติไปแล้วตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๘๙ ข้อเสนอดังกล่าวจึงนำไปสู่การประชุมเพื่อจัดทำร่างสนธิสัญญาจัดตั้งสหภาพยุโรป (Treaty on European Union) หรือสนธิสัญญามาสตริกต์ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือน ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๐ -ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๑
     ในระหว่างการเจรจาทั้งมิตแตร์รองและโคลได้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดตั้งสหภาพยุโรปเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ศุลกากร การเมือง หรือปัญหาทางสังคมโดยเฉพาะปัญหาที่เกี่ยวกับมิติทางสังคมที่จะใส่ไว้ในสนธิสัญญาซึ่งอังกฤษนำโดยนายกรัฐมนตรีมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ (Margaret Thatcher)* และจอห์น เมเจอร์ (John Major)* ไม่เห็นด้วยในเหลาย ๆ เรื่องนั้นมิตแตร์รองและโคลได้พยายามเจรจาต่อรองในช่วงเวลา ๒ วันในที่ประชุมสุดยอดที่เมืองมาสตริกต์ในเดือน ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๑ จนในที่สุดที่ประชุมก็ยอมตกลงให้บรรจุกฎบัตรสังคม (Social Charter) ไว้ในพิธีสาร (protocol) ในภาคผนวกของสนธิสัญญาซึ่งลงนามโดยชาติสมาชิก ๑๑ ประเทศที่ยอมรับกฎบัตรนี้เท่านั้นโดยไม่มีผลบังคับใช้กับอังกฤษ (opt-out) ทำให้เกิดประเพณีปฏิบัติใหม่ขึ้นในกระบวนการบูรณาการยุโรปและทำให้สนธิสัญญาจัดตั้งสหภาพยุโรปได้รับการลงนามในวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๙๒ มิตแตร์รองและโคลจึงได้ชื่อว่าเป็นสถาปนิกคนสำคัญของสหภาพยุโรป
     หลังการลงนามในสนธิสัญญามาสตริกต์มิตแตร์รองยังมีส่วนผลักดันให้สนธิสัญญาดังกล่าวมี ผลบังคับใช้โดยเร็ว แม้ว่าภายในฝรั่งเศสเอง ผลการลงประชามติในการสนับสนุนสนธิสัญญาจะผ่านไปอย่างเฉียดฉิวก็ตาม ในช่วงเกือบ ๓ ปีก่อนพ้นจากตำแหน่งมิตแตร์รองปล่อยให้นายกรัฐมนตรีบาลลาดูร์รับผิดชอบกิจการภายในเกือบทั้งหมด โดยที่ตัวเขามุ่งเน้นอยู่ที่กิจการต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ เขามีบทบาทเป็นอย่างมากในการกระชับความสัมพันธ์กับเยอรมนีทั้งก่อนและหลังการรวมประเทศและฟื้นฟูความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาและรัสเซีย รวมทั้งให้ความสนใจปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในยุโรปตะวันออกเป็นอย่างมากในขณะเดียวกันมิตแตร์รองต้องต่อสู้กับโรคมะเร็งอย่างเข้มแข็งและมีจิตใจมุ่งมั่น โดยได้เดินทางไปบอสเนีย (Bosnia) เพื่อเยี่ยมเยียนประชาชนที่ประสบภัยพิบัติจากสงครามบอสเนีย (Bosnia War)* และเดินทางไปสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่น ๆ เพื่อพบปะกับผู้นำและร่วมประชุมระหว่างประเทศหลายครั้ง
     นอกจากเป็นนักการเมืองที่เฉลียวฉลาดและมีไหวพริบรอบตัวแล้ว มิตแตร์รองยังเป็นนักเขียนและให้ความสนใจเป็นพิเศษในด้านประวัติศาสตร์ วรรณกรรม ศิลปวัฒนธรรม และโบราณคดี ในช่วง ๑๔ ปีที่เขาเป็นประธานาธิบดี เขาได้ดำเนินการหลายโครงการเพื่อปรับปรุงและฟื้นฟูกรุงปารีสให้เป็นนครที่ทันสมัยและสวยงาม รวมทั้งการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (Louvre) อันมีชื่อเสียง โครงการเหล่านี้ได้กลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ทำให้ชื่อของเขาได้รับการจดจำจากคนทั่วไปอย่างกว้างขวาง
     ในด้านชีวิตส่วนตัวนั้น มิตแตร์รองสมรสกับดานิแอล (Danielle) ซึ่งเป็นนักการเมืองฝ่ายซ้ายหัว รุนแรงและมีบุตรชายด้วยกัน ๒ คน คือ ชอง-คริสตอฟ (Jean-Christophe) และกิลแบร์ (Gilbert) และต่อมาได้มีการเปิดเผยว่าเขามีบุตรสาวนอกสมรส ๑ คน ชื่อมาซารีน แปงโช (Mazarine Pingeot)
     ฟรองซัว โมรีซ-มารี มิตแตร์รองถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากที่กรุงปารีสในวันที่ ๘ มกราคม ค.ศ. ๑๙๙๖ ขณะมีอายุ ๘๐ ปี หลังพ้นจากตำแหน่งเพียง ๖ เดือน รัฐบาลฝรั่งเศสได้ประกอบพิธีศพของเขาอย่างสมเกียรติ พร้อมทั้งยกย่องว่ามิตแตร์รองเป็นบุคคลสำคัญยิ่งคนหนึ่งของประเทศและได้ฝังศพของเขาไว้ที่เมืองชานัก.



คำตั้ง
Mitterrand, François Maurice-Marie
คำเทียบ
นายฟรองซัว โมรีซ-มารี มิตแตร์รอง
คำสำคัญ
- บาลลาดูร์, เอดูอาร์
- ความตกลงฟงแตนโบล
- ข้อเสนอมิตแตร์รอง
- การประนีประนอมแห่งลักเซมเบิร์ก
- ระบบพรีเฟ็ก
- กลุ่มเบเนลักซ์
- โรการ์, มีแชล
- ฟาบีอูส, โลรอง
- โมรัว, ปีแยร์
- ปงปีดู, ชอร์ช
- เกรสซง, เอดีต
- การประชุมใหญ่ที่เมืองเอปีเน
- เดสแตง, วาเลรี ชีสการ์
- ชีรัก, ชาก
- สหพันธ์สังคมนิยมประชาธิปไตยฝ่ายซ้าย
- กลุ่มโกลลิสต์
- เปลอวอง, เรอเน
- บูร์แชส-โมนูรี, โมรีซ
- มองแดส-ฟรองซ์, ปีแยร์
- รามาดีเย, ปอล
- นีแยฟวร์, เขต
- แวร์เดิง, เมือง
- สหภาพยุโรป
- หน่วยต่อต้านติดอาวุธ
- สนธิสัญญามาสตริกต์
- ลอร์แรง, อีวอน
- ลาวาล, ปีแยร์
- รัฐบาลวิชี
- มิตแตร์รอง, โชแซฟ
- พรรคกางเขนไฟ
- เปแตง, อองรี ฟิลิป
- ประชาคมยุโรป
- โคล, เฮลมุท
- ชารองต์, มณฑล
- โกล, ชาร์ล เดอ
- ชาร์นัก, เมือง
- กลุ่มต่อต้านนาซีของฝรั่งเศส
- ฟงแตนโบล, พระราชวัง
- สมัยสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๔
- วิกฤตการณ์ที่นั่งว่าง
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- มิตแตร์รอง, ฟรองซัว โมรีซ-มารี
- ข้อตกลงเชงเงิน
- รัฐสภายุโรป
- กฎหมายยุโรปตลาดเดียว
- ดูจ, เจมส์
- เดอลอร์, ชาก
- ตลาดเดียวแห่งยุโรป
- นโยบายร่วมด้านการต่างประเทศและความมั่นคง
- อนุสัญญาโลเมฉบับที่ ๔
- สหภาพทางเศรษฐกิจและการเงินยุโรป
- แทตเชอร์, มาร์กาเร็ต
- กำแพงเบอร์ลิน
- ปัญหาการรวมเยอรมนี
- เมเจอร์, จอห์น
- สนธิสัญญาจัดตั้งสหภาพยุโรป
- สงครามบอสเนีย
- เบเรโกวัว, ปีแยร์
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1916-1996
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๔๕๙-๒๕๓๙
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
วิมลวรรณ ภัทโรดม
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 5.M 395-576.pdf